ประโยชน์และความท้าทายในการใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทย

กัญจน์ จิระวุฒิพงศ์ และเขมภัทร ทฤษฎิคุณ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชวนพิจารณาประโยชน์และความท้าทายในการใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทย

โดย กัญจน์ จิระวุฒิพงศ์ และเขมภัทร ทฤษฎิคุณ

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล ดังจะเห็นได้จากความพยายามของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลระดับชาติที่มุ่งหมายให้เกิดการอำนวยความสะดวก การลงทุนเชิงกลยุทธ์ และการตรากฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจและประชาชน เนื่องจากกฎหมายมีรายละเอียดและหลักการที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายภาพรวมของพัฒนาการของประเทศไทยในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงกฎระเบียบและแนวทางปัจจุบัน ประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการมีระบบและมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ดี และความท้าทายของประเทศไทยในการพัฒนามาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาแนวทางการพัฒนามาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทย และเป็นบทเรียนสำหรับประเทศอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในลักษณะที่ใกล้เคียงกันอีกด้วย

ภาพรวมของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือเรียกโดยย่อว่า PDPA ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 แต่ในความเป็นจริงพระราชบัญญัติฉบับนี้เพิ่งมีผลใช้บังคับจริงในวันที่ 1 มิถุนายน 2562 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส. หรือ PDPC) เป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงมีอำนาจในการออกกฎหมายลำดับรองและวางแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการตาม PDPA โดยในปัจจุบัน สคส. ได้มีการออกกฎหมายลำดับรองและแนวทางปฏิบัติดังปรากฏตามตารางข้างท้ายนี้

ตารางแสดงกฎหมายลำดับรองและแนวปฏิบัติตามฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ข้อมูล ณ 14 กรกฎาคม 2566)

กฎหมายลำดับรองวันที่ออก

1. ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง การยกเว้นการบันทึกรายการของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็ก พ.ศ. 2565

21 มิถุนายน 2565

2. ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ พ.ศ. 2565

21 มิถุนายน 2565

3. ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565

21 มิถุนายน 2565
4. ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 256515 ธันวาคม 2565

5. ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำและเก็บรักษาบันทึกรายการของกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565

17 ธันวาคม 2565

6. ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลว่าด้วยการยื่น การไม่รับเรื่อง การยุติเรื่อง การพิจารณา และระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องเรียน พ.ศ. 2565

12 กรกฎาคม 2565
แนวปฏิบัติวันที่ออก

7. แนวทางการดำเนินการในการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

7 กันยายน 2565

8. แนวทางการดำเนินการในการแจ้งวัตถุประสงค์และรายละเอียดในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

7 กันยายน 2565

ที่มา: เว็บไซต์ สคส.

นอกจากกฎหมายลำดับรองและแนวปฏิบัติดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปัจจุบัน สคส. ได้มีความพยายามจะออกกฎหมายลำดับรองเพื่อสร้างความชัดเจนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (data protection officer: DPO) ในหน่วยงานของรัฐและกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างประเทศ

ในบริบทของประเทศไทย PDPAไม่ใช่กฎหมายที่กำหนดแนวทางในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพียงฉบับเดียว แต่ในบริบทของอุตสาหกรรมเฉพาะในประเทศไทย อาทิ โทรคมนาคม เครดิตบูโร การเงินและการธนาคาร และการประกันภัยก็มีกฎหมายเฉพาะในการกำกับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในอุตสาหกรรมเหล่านี้อยู่

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพบว่า ในปัจจุบันยังไม่ปรากฏคำวินิจฉัยของ สคส. หรือ PDPC และคำพิพากษาของศาลตาม PDPA

ประโยชน์ของการมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ดี

ในทางหลักการ PDPA มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการสร้างความมั่นใจว่า ข้อมูลส่วนบุคคลจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ผ่านการกำหนดมาตรการและแนวทางในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่คำนึงความเป็นส่วนตัว และการวางมาตรการรองรับการเคลื่อนย้ายข้อมูลส่วนบุคคลข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล กฎหมายยังมีส่วนในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าประเทศไทยมีมาตรการการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นสากล ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อาทิ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับข้อมูลแบบคลาวด์คอมพิวเตอร์ โดยตัวอย่างการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันนี้คือ การเข้ามาลงทุนในศูนย์ข้อมูลและบริการคลาวด์ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนของ Amazon Web Service (AWS)  นอกจากนี้ การมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลน่าเชื่อถือยังเอื้อต่อการไหลเวียนของข้อมูลอย่างราบรื่น ซึ่งส่งเสริมความร่วมมือและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อาทิ ความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ครอบคลุม (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)

ความท้าทายอย่างต่อเนื่องของการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในไทย

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 ได้เกิดเหตุข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลครั้งใหญ่ทำให้ สคส. เรียกร้องให้องค์กรธุรกิจและหน่วยงานของรัฐต่างๆ ประเมินความพร้อมในการรับมือต่อความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนบุคคลจะรั่วไหลและระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล  อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการมีข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลอีกหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสียว่า มาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทยเพียงพอหรือไม่

สถานการณ์ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นสถานการณ์ร่วมกันของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากรายงาน Check Point ในปี 2564 พบว่า มีการโจมตีทางไซเบอร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นร้อยละ 168 เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ โดยร้อยละ 59 ของเป้าหมายในการโจมตีทางไซเบอร์มาจากภาคธุรกิจ  ความท้าทายสำคัญของการป้องกันและรับมือ การถูกโจมตีทางไซเบอร์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจากการสำรวจในปี 2564 พบว่า ในปัจจุบันมีความต้องการของจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์มากถึง 2.72 ล้านตำแหน่งทั่วโลก

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องสร้างระบบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ดีเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวประเทศไทยจำเป็นต้องมีแนวทางในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็จากความร่วมมือและการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด บนหลักการสำคัญคือ การสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์ในข้อมูลกับการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สคส. ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างนโยบายและกรอบในการกำกับกิจกรรมการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ควรจะต้องทำหน้าที่โดยประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจในนามของสมาคมธุรกิจ และภาคประชาสังคม ดังนั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของประเทศไทย สามารถสรุปความท้าทาย 3 ประการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนี้

  1. การกำหนดกฎระเบียบและแนวปฏิบัติที่สอดคล้องและเหมาะสมกับการทำงานในแต่ละอุตสาหกรรม

การสร้างแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานภายในอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิบัติตาม PDPA โดยในช่วงก่อนที่กฎหมายจะมีผลใช้บังคับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และต่อมาก็มีการพัฒนาแนวปฏิบัติเฉพาะรายอุตสาหกรรม อาทิ แนวปฏิบัติเฉพาะธุรกิจธนาคาร และประกันภัยที่เกิดขึ้นภายใต้การส่งเสริมของสมาคมธุรกิจ

นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดแนวทางในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สคส. ได้สนับสนับสนุนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในการดำเนินการปรึกษาหารือการจัดทำแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 7 รายสาขาธุรกิจ และจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากภาคธุรกิจและประชาชน เพื่อสร้างแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ดี ซึ่งการประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก เนื่องจากแนวปฏิบัติมีส่วนช่วยให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA 

อย่างไรก็ดี ข้อสำคัญที่ต้องระลึกไว้ก็คือ ในยุคที่เทคโนโลยีมีและรูปแบบธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียจึงมีความสำคัญ สคส. ควรจะต้องกำกับกิจกรรมการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลโดยรักษาสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์ในข้อมูลส่วนบุคคลทั้งไม่ว่าจะโดยภาคธุรกิจหรือหน่วยงานของรัฐ กับสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน ซึ่งการร่วมมือกันกับภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมที่เกิดขึ้นในอนาคตอาจพิจารณาประเด็นการกำหนดแนวทางเก็บรวบรวมข้อมูลของอัลกอริทึมอย่างไรให้เกิดความโปร่งใส หรือการกำหนดแนวทางที่ดีในการเก็บข้อมูลอัตโนมัติอย่างไรให้กระทบสิทธิความเป็นส่วนตัวน้อยที่สุด 

  1. การมีหน่วยงานกำกับกิจกรรมการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มแข็ง

ในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีหน่วยงานกำกับกิจกรรมการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มแข็ง ซึ่งการจะเกิดหน่วยงานในลักษณะดังกล่าวได้จำเป็นต้องมีงบประมาณที่เพียงพอและบุคลากรที่มีความสามารถเหมาะสมกับการทำงาน 

ในกรณีของประเทศไทยได้เผชิญกับความท้าทายในช่วงเริ่มต้นการบังคับใช้ PDPA ในปี 2562 ภายหลังจากการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายไปถึง 2 ครั้ง ในที่สุด PDPA ได้เริ่มต้นใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ความวุ่นวายของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาครัฐและเอกชน ซึ่งรวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง สคส. ทำให้กระทบต่อการสรรหากรรมการและการออกกฎหมายลำดับรองที่ล่าช้า

นอกจากนี้ การได้รับงบประมาณที่เพียงพอ และบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งงานเป็นส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความมั่นใจในการทำงานของหน่วยงานกำกับดุแลการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล  อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากรเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในหลายประเทศเช่นกัน โดยในปัจจุบัน สคส. มีจำนวนบุคลากรต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ จะต้องมีเจ้าหน้าที่รวมทั้งหมด 210 คน แต่ตามแผนที่รายงานคณะรัฐมนตรี สคส. มีแผนจะรับโอนบุคลากรเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 49 คนในปีงบประมาณนี้ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อเป้าหมายในการดำเนินงาน ในด้านงบประมาณ สคส. มีความพยายามขอรับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 99,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการทำงานของ สคส. งบประมาณและบุคลากรเหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานของ สคส. ในการปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. การกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้กฎหมาย และการวางข้อจำกัดในการยกเว้นกฎหมายให้เหมาะสม

PDPA ของประเทศไทยได้รับอิทธิพลในการร่างมาจากกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป หรือ General Data Protection Regulation (GDPR) โดยมีหลักการสำคัญหลายประการร่วมกัน แม้อาจจะมีความแตกต่างบ้างเล็กน้อยในบางเรื่อง ตัวอย่างเช่นการตระหนักถึงความหลากหลายของธุรกิจในประเทศไทย จึงได้มีการกำหนดข้อยกเว้นบางประการเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยลดภาระการปฏิบัติตามกฎหมาย  อย่างไรก็ดี ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในการตีความกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในบริบทอุตสาหกรรมเฉพาะที่มีกฎหมายกำกับดูแลการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนที่รวบรวมไว้ก่อนการบังคับใช้ PDPA จำเป็นต้องมีความชัดเจนว่า ในสถานการณ์เช่นนี้จะใช้กฎหมายอย่างไร

นอกจากนี้ การร่างกฎหมายลำดับรองที่พิจารณาอยู่ในปัจจุบันยังได้มีความพยายามยกเว้นการบังคับใช้ PDPA ในบางแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานของรัฐ แม้ว่าจะได้มีความพยายามสร้างหลักเกณฑ์สำหรับข้อยกเว้นในการบังคับใช้กฎมายเหล่านี้ แต่ข้อยกเว้นดังกล่าวยังขาดวิธีการที่ชัดเจนในการรักษาสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สภาพดังกล่าวอาจส่งผลให้มาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทยมีมาตรฐานที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานของสหภาพยุโรป ซึ่งจะกระทบต่อการถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลข้ามพรมแดน เนื่องจากไม่ได้มีมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เท่าเทียมกัน เพื่อป้องกันผลกระทบดังกล่าว รัฐบาลจึงควรจะต้องแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงผลกระทบของการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างละเอียดถี่ถ้วนและสอดคล้องกับเป้าหมายที่จะมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ดีของประเทศไทย

บทสรุป

โดยรวมแล้วการบังคับใช้ PDPA ในประเทศไทยยังจำเป็นต้องจัดการกับความท้าทายเกี่ยวกับความสามารถของรัฐ การกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้กฎหมายและการกำหนดข้อยกเว้นกฎหมาย และการกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในอุตสาหกรรม โดยในกรณีนี้ สคส. ควรจัดลำดับความสำคัญและเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ รวมถึงควรจะต้องคำนึงความสอดคล้องของมาตรฐานสากล และการร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์สุดท้ายคือ การเสริมสร้างกรอบในการคุ้มครองข้อมลส่วนบุคคลน่าเชื่อถือ

เกี่ยวกับผู้เขียน

กัญจน์ จิระวุฒิพงศ์ เป็นนักวิจัย และเขมภัทร ทฤษฎิคุณ เป็นนักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาระเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

เกี่ยวกับองค์กร

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะในปี 2527 มีสถานะเป็นมูลนิธิเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอความเชี่ยวชาญทางเทคนิคในการวิเคราะห์และนำเสนอนโยบาย (โดยเฉพาะนโยบายทางเศรษฐกิจ) ต่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและนโยบายทางสังคมของประเทศไทย

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ Tech for Good Institute

Download Agenda

Download Report

Latest Updates

Latest Updates​

Tag(s):

Keep pace with the digital pulse of Southeast Asia!

Never miss an update or event!

Mouna Aouri

Programme Fellow

Mouna Aouri is an Institute Fellow at the Tech For Good Institute. As a social entrepreneur, impact investor, and engineer, her experience spans over two decades in the MENA region, South East Asia, and Japan. She is founder of Woomentum, a Singapore-based platform dedicated to supporting women entrepreneurs in APAC through skill development and access to growth capital through strategic collaborations with corporate entities, investors and government partners.

Dr Ming Tan

Founding Executive Director

Dr Ming Tan is founding Executive Director for the Tech for Good Institute, a non-profit founded to catalyse research and collaboration on social, economic and policy trends accelerated by the digital economy in Southeast Asia. She is concurrently a Senior Fellow at the Centre for Governance and Sustainability at the National University of Singapore and Advisor to the Founder of the COMO Group, a Singaporean portfolio of lifestyle companies operating in 15 countries worldwide.  Her research interests lie at the intersection of technology, business and society, including sustainability and innovation.

 

Ming was previously Managing Director of IPOS International, part of the Intellectual Property Office of Singapore, which supports Singapore’s future growth as a global innovation hub for intellectual property creation, commercialisation and management. Prior to joining the public sector, she was Head of Stewardship of the COMO Group and the founding Executive Director of COMO Foundation, a grantmaker focused on gender equity that has served over 47 million women and girls since 2003.

 

As a company director, she lends brand and strategic guidance to several companies within the COMO Group. Ming also serves as a Council Member of the Council for Board Diversity, on the boards of COMO Foundation and Singapore Network Information Centre (SGNIC), and on the Digital and Technology Advisory Panel for Esplanade–Theatres on the Bay, Singapore’s national performing arts centre.

 

In the non-profit, educational and government spheres, Ming is a director of COMO Foundation and Singapore Network Information Centre (SGNIC) and chairs the Asia Advisory board for Swiss hospitality business and management school EHL. She also serves on  the Council for Board Diversity and the Digital and Technology Advisory Panel for Esplanade–Theatres on the Bay, Singapore’s national performing arts centre.

 

Ming was educated in Singapore, the United States, and England. She obtained her bachelor’s and master’s degrees from Stanford University and her doctorate from Oxford.