โดย อานนท์ ตานะเศรษฐ ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยได้พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากปัจจัยผลักดันต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น การใช้งานโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น และการสนับสนุนจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การเติบโตนี้ก็มาพร้อมกับความท้าทายใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ข้อมูลบิดเบือน และภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องหาจุดสมดุลในการรับมือกับภูมิทัศน์ (landscape) ด้านดิจิทัลนี้ระหว่างการพัฒนาและใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ กับการออกกฎหมาย กฎ ระเบียบในการกำกับดูแล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
ภูมิทัศน์ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านเทคโนโลยี
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 นี้ พบว่าไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่ในระดับหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม ได้มีพัฒนาการสำคัญในระดับอื่น ๆ เช่น การเปิดแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา ซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2024 ที่ผ่านมา โดยแผนกคดีนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคดีฉ้อโกงทางออนไลน์หรือคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากเกินกว่าที่ศาลอาญาดั้งเดิมจะรับมือไหว การจัดตั้งแผนกคดีนี้ยังเน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการออกกรอบการกำกับดูแลเป็นพิเศษสำหรับการกำกับดูแลอาชกรรมทางไซเบอร์ที่นับวันจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ อีกหนึ่งพัฒนาการที่สำคัญคือการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตโดยรัฐสภาเมื่อเดือนมกราคม 2024 โดยคณะกรรมาธิการนี้มีหน้าที่ในการศึกษาแนวทางในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมกับการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการดังกล่าวประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลายทั้งในเชิงกฎหมายและการใช้งานภาคอุตสาหกรรม และข้อค้นพบและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมาธิการชุดนี้จะถูกจัดทำเป็นรายงานและนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
หนึ่งในข้อสังเกตที่สำคัญเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนในแง่หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศไทย คือ เนื่องจากปัจจุบันนโยบายของประเทศให้ความสำคัญกับการลดขนาดภาครัฐและด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงเป็นเรื่องยากที่ประเทศไทยจะจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะสำหรับการกำกับดูแลเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ แต่ภาครัฐมักจะใช้วิธีการเพิ่มหน้าที่และอำนาจใหม่ ๆ ให้แก่หน่วยงานที่มีอยู่แล้ว หรือทำงานผ่านการแต่งตั้งคณะกรรรมการขึ้นมาใหม่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ถูกจัดตั้งขึ้นล่าสุดคือ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2023 โดยแยกตัวออกมาจากการเป็นสถาบันภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ภูมิทัศน์ของกฎหมายด้านเทคโนโลยี
พัฒนาการด้านกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลเทคโนโลยีในช่วงต้นปี 2024 นี้มาจาก 2 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ซึ่งได้ออกประกาศและแนวทางหลายฉบับ ดังนี้
สพธอ. ได้ออกเอกสารสำคัญจำนวน 2 ฉบับ คือ 1. ข้อเสนอแนะแนวทางการจัดทำนิติกรรมหรือสัญญาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ 2. คู่มือการดูแลโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเอกสารฉบับแรกทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานสำหรับการทำนิติกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ฉบับหลังเป็นการออกมาตรการดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลในการดูแลและจัดการโฆษณา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้การโฆษณาออนไลน์มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น แนวทางเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามทางออนไลน์และข้อมูลบิดเบือน รวมถึงการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ และการฉ้อโกงและหลอกลวงทางออนไลน์
ในขณะเดียวกัน สกมช. ได้ออกประกาศสำคัญหลายฉบับในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานของระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์และแนวทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีเอกสารสำคัญ 4 ฉบับ ได้แก่ มาตรฐานและแนวทางส่งเสริมพัฒนาระบบการให้บริการเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาตรฐานขั้นต่ำของข้อมูลหรือระบบสารสนเทศ แนวทางการจัดทำแผนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และหน้าที่ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศและหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล โดยประกาศหรือแนวทางเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ดีสำหรับแต่ละขั้นตอนของความปลอดภัยทางไซเบอร์ ตั้งแต่การวางแผนไปจนถึงการดำเนินการ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานคุณภาพความปลอดภัยทางไซเบอร์อีกด้วย
นอกจากนี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ออกหลักเกณฑ์การอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนใช้บริการระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบพิสูจน์ตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service : FVS) ของกรมการปกครอง ซึ่งช่วยให้สามารถเปรียบเทียบภาพใบหน้าจริงกับบันทึกของรัฐบาลแบบเรียลไทม์ โดยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้เพื่อปรับปรุงกระบวนการยืนยันตัวตนโดยยื่นคำขอต่อกรมการปกครองตามแนวทางดังกล่าว
โครงการริเริ่มด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญ
รัฐบาลไทยได้สนับสนุนโครงการริเริ่มด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีต่าง ๆ ผ่านการดำเนินงานตั้งแต่ระดับหน่วยงานจนถึงระดับประเทศ โดยในระดับประเทศนั้น รัฐบาลได้เปิดตัววิสัยทัศน์ “Ignite Thailand” ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 ด้านหลัก โดยหนึ่งในนั้นคือการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ Digital Economy Hub ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะดึงดูดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น Digital for All, นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และ AI ให้ขยายการดำเนินงานในประเทศไทย รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสำหรับ cloud computing และการวิจัยและการประยุกต์ใช้ AI เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์นี้ รัฐบาลมีแผนจะเสนอความช่วยเหลือทางการเงิน เช่น กองทุนสมทบ เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเพื่อให้การดำเนินธุรกิจง่ายขึ้น และสร้างโมเดล Sandbox เพื่อดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม โครงการริเริ่มเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน และคาดว่าจะได้รับการพัฒนาเป็นแผนยุทธศาสตร์โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) และหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง
ในระดับกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมด้าน AI ผ่านโครงการ “อว. for AI” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาบุคลากรด้าน AI นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนที่จะจัดตั้ง AI Governance Center โดยเป็นโครงการนำร่องภายใต้โครงการ AI Thailand ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างชุดเครื่องมือการกำกับดูแล AI การกำหนดมาตรฐาน และการออกข้อบังคับใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการวิจัยในภาคส่วนต่าง ๆ และให้คำแนะนำแก่หน่วยงานกำกับดูแล นอกจากนี้ ศูนย์แห่งนี้ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างเครือข่ายนักวิจัย AI ระดับโลกและเสนอการฝึกอบรม การให้คำปรึกษา และบริการด้าน AI governance และจัดตั้งเป็นศูนย์ทดสอบ AI ที่มีสภาพแวดล้อมลักษณะของ Sandbox สำหรับการทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ
ก้าวข้างหน้าต่อไป
ในภาพรวมนั้น ประเทศไทยได้มีพัฒนาการที่สำคัญหลายด้านในการจัดการกับความท้าทายในด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น การรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์และข้อมูลบิดเบือนที่เพิ่มขึ้น การสร้างมาตรฐานและแนวปฏิบัติในการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยประเทศไทยนั้นตระหนักถึงศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในฐานะตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิธีการที่จะนำ AI มาผนวกรวมกับการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมธุรกิจให้นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงขาดความชัดเจนในแง่ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ AI โดยเฉพาะในส่วนของการประยุกต์ใช้ในวิชาชีพต่าง ๆ เช่น การแพทย์ กฎหมาย ซึ่งหากไม่มีการออกกฎระเบียบที่ชัดเจนขึ้นในเร็ววันนี้ การนำ AI มาใช้ในประเทศอาจจะนำไปสู่ผลที่ไม่ได้ตั้งใจหรือการใช้งานโดยปราศจากการกำกับดูและการกำหนดความรับผิดชอบอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การขาดนโยบายที่ชัดเจนอาจนำไปสู่ความล่าช้าในการพัฒนาบุคลากรทักษะสูง หรือการที่กำลังแรงงานถูกแทนที่ด้วยการนำ AI มาใช้ของหลาย ๆ บริษัทโดยไม่ได้มีการเตรียมการรองรับอย่างเพียงพอ
อีกหนึ่งข้อกังวลที่สำคัญสำหรับภาครัฐคือความเร็วในการปรับตัวทางด้านกฎหมาย กฎ ระเบียบเพื่อรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงกับเทคโนโลยีดิจิทัลหรือนวัตกรรม ซึ่งแม้ว่าการพัฒนากฎหมายหรือแนวทางการกำกับดูแลเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI ยังคงต้องใช้เวลาอีกซักระยะหนึ่ง แต่ก็เป็นประเด็นที่ทุกหน่วยภาคส่วนควรให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในแต่ละภาคส่วนอย่างเหมาะสมและทั่วถึง
การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้ก้าวหน้าและยั่งยืน จำเป็นที่ประเทศจะต้องตั้งเป้าหมายและนโยบายระดับประเทศอย่างชัดเจน โดยกำหนดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความรับผิดชอบร่วมกันในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ประเทศไทยยังควรพัฒนาความร่วมมือกับรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลเทคโนโลยี รวมถึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลเพื่อให้แน่ใจว่าทุกภาคส่วนของสังคมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง ลดช่องว่างระหว่างบริษัทใหญ่และกลุ่มผู้มีทักษะสูงกับกลุ่มผู้ที่อาจจะประสบปัญหาในการเข้าถึงและปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งนโยบายและยุทธศาสตร์เหล่านี้สอดคล้องกับการเจรจาข้อตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน หรือ ASEAN Digital Economy Framework Agreement (DEFA) ที่มุ่งเน้นไปที่การประสานงานเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านดิจิทัล การส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดน และการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนในยุคดิจิทัล โดยความร่วมมือดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งภายใต้ภูมิทัศน์ดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และยังช่วยให้เกิดการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลในภาพรวมของอาเซียน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะนำไปสู่การเปิดทางไปยังอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีภายใต้ความเท่าเทียมสำหรับทั้งประเทศไทยและอาเซียนทั้งหมดต่อไป
ข้อคิดเห็นและคำแนะนำที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ Tech for Good Institute
เกี่ยวกับผู้เชียน:
อานนท์ ตานะเศรษฐ เป็นผู้เชี่ยวชาญนโยบายของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมและกฎหมาย กฎ ระเบียบเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น กฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม หรือ TRIUP Act นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ในการพัฒนานโยบายส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพและระบบนิเวศด้านความเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทยอีกด้วย